แพทย์จีนคิดพิมพ์กระดูกจากเครื่องพิมพ์สามมิติด้วยผงกระดูกจริง
ความก้าวล้ำของเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายๆ ด้านไม่เว้นแม่แต่ในวงการแพทย์นะคะ ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าแพทย์ชาวจีนได้ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติพิมพ์ชิ้นส่วนกระดูกสันหลังเทียมเพื่อ่วยชีวิตเด็กชายวัย 12 ปีที่มีกระดูกสันหลังช่วงคอผิดรูปจากเนื้องอกมะเร็งกระดูก แต่ว่าล่าสุดล้ำไปกว่านั้นเมื่อทีมวิจัยจาก Southern Medical University ในกวางโจว ประเทศจีนมีความพยายามที่จะการพิมพ์กระดูกจากผงกระดูกจริงๆ โดยไม่ได้ใช้โลหะอย่างที่เคย
การสร้างกระดูกเทียมจากกระดูกจริงแบบนี้จะใช้ผงกระดูกของคนหรือสัตว์ร่วมกับกาวชีวภาพ ซึ่งข้อดีก็คือการเปลี่ยนไปใช้วัสดุแบบนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสที่การปลูกถ่ายจะได้สำเร็จมากกว่าเดิมทั้งยังสามารถปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการของผู้ป่วยแต่ละรายได้ด้วย
โดยจะใช้วิธีการพิมพ์ 3 มิติด้วยการฉีดผงกระดูกที่มีขนาดเล็กเพียง 0.1 มิลลิเมตรลงไปทีละชั้นตามด้วยกาว จากนั้นก็พิมพ์ผงกระดูกลงและตามด้วยกาว ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้กระดูกเทียมตามที่ต้องการ ซึ่งในชิ้นที่ต้องลงรายละเอียดมากๆ ก็อาจจะต้องทำแบบนี้หลายพันครั้งเลยทีเดียว
ตอนนี้ทางทีมวิจัยได้เริ่มทดสอบการเปลี่ยนถ่ายกระดูกเทียมจากเครื่อมพิมพ์สามมิติแล้วในกระต่ายและแพะ ซึ่งก็ได้ผลออกมาค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ แต่ทั้งนี้กระดูกเทียมที่สร้างขึ้นก็ยังไม่มีความแข็งแรงเท่ากระดูจริง จึงยังไม่สามารถพิมพ์กระดูกเทียมที่ขนาดเกิน 15 เซนติเมตรได้เพราะการพิมพ์ชิ้นงานใหญ่นั้นจะยิ่งมีความเปราะบางจนไม่สามารถใช้งานได้นั่นเอง ดังนั้นขั้นตอนต่อไปคือการเปรียบเทียบหาความเหมือนและความต่างระหว่างโครงสร้างกระดูกจากเครื่องพิมพ์สามมิติกับกระดูกจริงเพื่อพัฒนางานวิจัยนี้ต่อไป
แม้ยังจะต้องทำการบ้านอีกมากกว่าจะใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแต่นี่ก็ถือว่าเป็นความหวังสำหรับผู้ป่วยที่สูญเสียกระดูกจากโรคมะเร็ง รวมถึงผู้ที่สูญเสียกระดูทั้งชิ้น หรือบางส่วนจากอุบัติเหตุอื่นๆ ด้วย พร้อมคาดอาจสามารถปลูกถ่ายกระดูกเทียมนี้ได้จริงในอีก 5-6 ปีข้างหน้าค่ะ
Source : slashgear, 3ders