แม้ในบ้านเราจะมีกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็กบนโลกออนไลน์แต่ก็ยังมีข้อถกเถีงมากมายที่ต้องเคลียร์
ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็กบนโลกออนไลน์ในต่างประเทศกันไปแล้วนะคะ ล่าสุดในไทยเองก็มีความคืบหน้าเรื่องนี้เช่นกันเพราะหลังจากที่มีการผลักดันให้กฎหมายนี้เข้ามาอยู่ในพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 24 ให้ผู้ที่ครอบครองและ หรือส่งต่อสื่อลามกเด็กนั้นมีความผิดทางกฎหมายพร้อมให้นิยามสื่อลามกอนาจารเด็กไว้ดังนี้
“วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทําทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปดปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือรูปแบบอื่นใด ในลักษณะทํานองเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงวัตถุหรือสิ่งต่างๆ ข้างต้นที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์ หรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่สามารถแสดงผลให้เข้าใจความหมายได้”
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศสําหรับตนเองหรือผู้อื่นให้ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ส่วนในกรณีที่ส่งต่อสื่อลามกอนาจารเด็กแก่ผู้อื่นนั้นจะมีโทษจําคุกไม่เกิน 7 เจ็ดปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ส่วนหากผู้ใดทำเพื่อการค้า แจกจ่ายหรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชน ทํา ผลิต มีไว้ นําเข้ามาหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือทําให้แพร่หลายโดยประการใดๆ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท
แต่กระนั้นก็ยังมีข้อถกเถียงกันในหลายๆ กรณีทั้งเรื่องภาพวาดหรือภาพกราฟิกที่ไม่ได้มีที่มาจากคนจริงๆ จะเข้าข่ายความผิดนี้ด้วยไหม, ภาพที่เยาวชนถ่ายตัวเองจะนับว่าผิดตามกฎหมายหรือไม่ พร้อมกันนี้หลายๆ ฝ่ายยังกังวลว่าการแก้ไขกฎหมายใหม่หลายฉบับก็ต้องระวังขัดแย้งกันเองด้วย เช่นกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกเด็กอาจจะขัดกับกฎหมายแพ่งอย่างเช่นที่ระบุให้เด็กที่อายุ 17 ปี สามารถแต่งงานกันและบรรลุนิติภาวะ แต่ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับนี้กลับถือว่าเด็กในกรณีดังกล่าวยังเป็นผู้ที่ไม่บรรลุนิติภาวะเป็นต้น ถ้าจะว่าไปหากจะมีการบังคับใช้กฎหมายนี้ในไทยคงต้องมีการกำหนดนิยามและขอบเขตของกฎหมายให้ชัดเจนกว่านี้ก่อนที่จะเริ่มบังคับใช้ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2558