AR ชิดซ้าย VR ชิดขวาเพราะปีนี้เป็นนาทีของเทรน MR แล้ว!
ในปีที่ผ่านมาเราได้ยินคำว่า AR และ VR มากันตลอด เพราะทั้งสองสิ่งนี้เป็นเทรนที่หลายๆ อุตสาหกรรมให้ความสนใจ ไม่ใช่แค่ในวงการเกมแต่ว่ามันยังเข้าไปมีบทบาทในด้านอื่นๆ อีกมากมายทั้งวงการศึกษา ไปจนถึงด้านการแพทย์ มันทำให้เราสามารถก้าวข้ามกรอบแบบเดิมๆ และสร้างปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ได้แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ AR และ VR อาจจะไม่ได้มาแรงเท่าเทรนของ MR เพราะว่าตอนนี้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่างทั้ง Google และ Alibaba ต่างก็ให้ความสนใจและร่วมลงเงินไปกับการพัฒนา MR กัน เมื่อพูดแบบนี้หลายๆ คนอาจจะเริ่มสงสัยว่า MR ที่พูดถึงเนี่ยมันคืออะไร? ต่างจาก VR หรือ AR ตรงไหน? แล้วเราจะได้ประโยชน์แบบไหนจากมันบ้าง?
MR ย่อมาจาก Mixed Reality ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) แต่ว่าเพื่อให้เข้าใจลักษณะของ MR มากขึ้นเราลองมาทวนดูความหมายของ AR และ VR กันสักหน่อย
AR คือการที่เราใช้อุปกรณ์อย่างมือถือของเราส่องไปรอบๆ ตัวและเห็นเนื้อหาที่ถูกโปรแกรมมาปรากฏร่วมกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ ของเรา ถ้าจะให้เห็นภาพอันนี้ก็ลองนึกถึงเกม Pokemon Go ก็เป็นตัวอย่างที่ดีมากเลยค่ะ ส่วน VR คือการใช้อุปกรณ์อย่างแว่น VR ในการจำลองสิ่ง 3 มิติที่ไม่ได้มีอยู่จริงขึ้นมาให้เราเห็นเสมือนว่ามันมีอยู่ตรงหน้า บวกกับเรื่องของเสียงทำให้สัมผัสต่างๆ ของเราเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง ซึ่งจะเห็นว่าทั้งสองอย่างนี้ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ของคน คอมพิวเตอร์ และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จะต่างกันแค่ที่ตรงสัดส่วนเท่านั้น
ส่วน MR นั้นคือการนำเอาทั้ง AR และ VR มารวมกัน เป็นเหมือนโลกคู่ขนานที่จะจำลองเอาสิ่งที่เราเห็นในโลกจริงรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกเสมือนให้เรามองผ่านอุปกรณ์อย่างแว่นที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะซึ่งนอกจากจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่ถูกจำลองให้เกิดขึ้นแล้วยังอาจจะมีข้อมูลหรือภาพจำลองอื่นๆ ซ้อนทับขึ้นมา รวมถึงสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าได้ด้วย ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ก็คือ HoloLens ของ Microsoft ที่เคยจัดการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพร้อมมีภาพจำลองภาพ 3 มิติให้เห็นถึงข้อมูลผู้เล่น ข้อมูลสนาม และยังสามารถเลือกดูภาพย้อนหลังแบบเรียลไทม์ไปพร้อมกับการชมการแข้งขันสดๆ ได้เป็นต้น
ซึ่งประโยชน์ของ MR นั้นก็จะเป็นการต่อยอดมาจาก AR และ VR ที่ให้เราสามารถมองเห็น สัมผัส และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เราเห็นได้อย่างสมจริงแต่ว่าจะหลากหลายมากขึ้น มีข้อมูลที่มากขึ้น มีมิติมากขึ้น MR สามารถเอาไปใช้ได้ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างการบอกข้อมูลสภาพอากาศ ดูข้อมูลสถานที่ต่างๆ, เช็คและตอบอีเมล, การลองและเลือกซื้อสินค้าออนไลน์, การเล่นเกมที่สมจริง, การเรียนการสอนแบบจำลองให้ได้เห็นภาพ ไปจนถึงการถ่ายทอดสดรายการและการแข่งขัน
แต่ว่า MR หรือ Mixed Reality จะเกิดขึ้นได้นั้นไม่ใช่แค่จะต้องมีอุปกรณ์ที่รองรับเพียงอย่างเดียว แต่ว่ายังจะต้องมีเนื้อหาที่รองรับเพื่อเข้ามาช่วยเสริมประสบการณ์ MR ให้เกิดขึ้นได้จริงด้วย ซึ่งถ้าเป็นก่อนหน้านี้เราอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่เมื่อได้เห็นว่าบริษัทไอทีหลายๆ เจ้าเริ่มหันมาให้ความสนใจลงทุนด้านการพัฒนา MR อย่างจริงจังพร้อมกับเทรนของ VR และ AR ที่กรุยทางมาให้ก่อนหน้านี้เลยทำให้มั่นใจได้ว่า MR น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินตัวเรานัก ในช่วงปี – สองปีนี้เราน่าจะได้ลองสัมผัส MR กันแน่นอนค่ะ :]