โมร็อคโคผุดโปรเจ็คสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่
ปัจจุบันนี้เทรนของทั่วโลกกำลังหันมาให้ความสนใจการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดกันมาก ซึ่งการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยมเพราะสามารถทำได้แทบจะทุกที่ในโลก ก่อนหน้านี้เราก็เคยพูดถึงโรงงานผลิตพลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อป้อนให้กับรถไฟฟ้าของค่าย Teala อย่าง Gigafactory กันไปแล้ว
อย่างล่าสุดที่โมร็อคโคก็มีการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกในเมืองวอร์ซาเซตดินแดนที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ประตูสู่ทะเลทราย” เพราะตั้งอยู่ติดกับทะเลทรายสะฮาราและได้รับแสงอาทิตย์มากถึงปีละ 3,000ช.ม. ซึ่งโรงไฟฟ้าที่ว่านี้ปัจจุบันกินพื้นที่หลายพันเอเคอร์ และสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 160เมกะวัตต์ เพื่อให้ประชาชนกว่า 650,000คนได้ใช้งานกัน
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้กระจกโค้งที่สูงถึง 40ฟุตมากถึง 500,000 แผ่นในการรับแสงอาทิตย์ก่อนที่จะส่งความร้อนนี้ไปยังท่อน้ำมันเพื่อให้ได้อุณหภูมิสูงถึงราว 739 องศาฟาเรนไฮต์ ก่อนที่น้ำมันดังกล่าวจะไปทำให้น้ำเดือดกลายเป็นไอน้ำแล้วไปหมุนกังหันเพื่อสร้างเป็นพลังงานไฟฟ้าต่อไป
แต่ว่าความใหญ่โตของที่นี่จะยังไม่จบลงเพียงแค่นี้เพราะว่านี่เป็นเพียงแค่เฟสแรกของโครงการเท่านั้น โครงการนี้ยังมีแผนการที่จะขยายเพิ่มเติมอีก 2เฟสในปี 2018 รวมเป็นพื้นที่มากถึง 6,000 เอเคอร์ เพื่อสร้างพลังงาน 580เมกะวัตต์
ซึ่งนี่ก็ตรงกับเป้าหมายของโมร็อคโคที่ต้องการเพิ่มอัตราการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 42% ของไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในประเทศ หลังจากที่ตอนนี้โมร็อคโคต้องนำเข้าพลังงานที่ใช้กว่า 97% ซึ่งนอกจากจะลดการนำเข้าพลังงานแล้วโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวยังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศลงได้อีก 32% จากระดับปกติภายในปี 2573 ด้วย
Source: theverge