หูจากเครื่องพิมพ์สามมิติ ความหวังใหม่ในการรักษา
เครื่องพิมพ์สามมิตินั้นมีประโยชน์หลากหลาย เราใช้มันในการสร้างโมเดล สร้างอาคาร ไปจนถึงการใช้ในเชิงการแพทย์อย่างการพิมพ์กระดูกต่างๆ แต่ล่าสุดมีผลงานวิจัยจากสถาบัน Wake Forest เผยความก้าวล้ำทางการแพทย์ไปอีกขั้นเมื่อพวกเขาสามารถสร้างเนื้อเยื่อจากเครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อใช้ปลูกถ่ายให้มนุษย์ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ, กระดูกอ่อน, กระดูก ไปจนถึงหู
โดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติที่เรียกว่า integrated tissue-organ printer หรือเครื่องพิมพ์ชีวภาพสามมิติที่มีความละเอียดและล้ำกว่าเครื่องพิมพ์สามมิติทั่วๆ ไปมาสร้างพิมพ์เขียวของอวัยวะที่ต้องการพิมพ์และใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้มาเป็นส่วนของโครงสร้างเนื้อเยื่อ ใช้ ไฮโดรเจลที่มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำและเข้ากันได้กับร่างกายมนุษย์ได้ดีมาหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อขณะทำการพิมพ์ขึ้นรูปขึ้น
แต่นี่แค่เริ่มต้นเพราะยังต้องหาทางแก้ไขข้อจำกัดของเซลล์ตามธรรรมชาติที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากพวกมันอยู่ห่างกันเกิน 0.1- 0.2มิลลิเมตร ทั้งนี้เพราะจะไม่สามารถลำเลียงเลือดเพื่อรับสารอาหารที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของเซลล์ไปถึงกันได้ ดังนั้นทางทีมวิจัยจึงต้องพิถีพิถันด้านโครงสร้างในการสร้างช่องเล็กๆ ขึ้น ทั้งยังต้องจำลองเส้นเลือดฝอยเพื่อใช้เป็นทางผ่านของสารอาหารที่จำเป็นต่อเซลล์ในการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย
ซึ่งตอนนี้นี้การสร้างเนื้อเยื่อดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับสัตว์ โดยทางทีมวิจัยได้ลองนำเอาเนื้อเยื่อที่พิมพ์ออกมาไปปลูกถ่ายให้หนูทดลองพร้อมติดตามผลหลังจากการปลูกถ่าย ซึ่งผล 5เดือนให้หลังนั้นเป็นที่น่าพอใจ พบการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ในอวัยวะที่ปลูกถ่ายไปและไม่พบเนื้อร้ายใดๆ
แต่กระนั้นกว่าโปรเจ็คนี้จะปลอดภัยพอสำหรับใช้กับมนุษย์ได้อาจจะต้องรอนานถึง 10ปี เพื่อให้ทางทีมวิจัยได้ศึกษาและพัฒนาจนแน่ใจ
Source: mashable